“พลซุ่มยิง” ซึ่งเรียกชื่อตามภารกิจ ก็คือทหารราบผู้ชำนาญการใช้อาวุธยิงทำลายเป้าหมายจากตำแหน่งซุ่มซ่อน ด้วยระยะไกลเป็นพิเศษเกินความคาดหมายหรือระยะตรวจการณ์ของฝ่ายตรงข้าม และต้องกระทำด้วยอาวุธพิเศษเฉพาะภารกิจคือ “ปืนซุ่มยิง”(sniper rifle) ประกอบกล้องเล็งและกระสุนที่ถูกออกแบบพิเศษเพื่อการทำลายเป้าหมายจากระยะไกลเท่านั้น จะไกลได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลักๆทั้งสี่อย่างที่กล่าวมาแล้วคือคน ปืน กล้องเล็งและกระสุน
ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าพลซุ่มยิงมีตำแหน่งประจำการอยู่ในกองทัพตั้งแต่เมื่อใด เท่าที่สันนิษฐานได้คือโลกน่าจะรู้จักพลซุ่มยิงตั้งแต่มนุษย์รู้จักรบกันด้วยอาวุธยิง อย่างธนูหรือปืนคาบสิลาในระยะแรก เมื่อมีกระสุนดินดำใช้กับปืนระบบคัดปลอกและเกลียวลำกล้อง การซุ่มยิงก็ทวีความสำคัญขึ้นเพราะผลของปฏิบัติการสามารถทำลายขวัญและกำลังใจข้าศึกได้สูง ด้วยกระสุนเพียงไม่กี่นัดก็สามารถเปลี่ยนแปลงผลของการรบได้ สร้างผลกระทบทางจิตวิทยาได้สูงต่อพลทหาร เมื่อนายทหารถูกยิง กองกำลังต้องเปลี่ยนเส้นทางหรือลดความเร็วในการเคลื่อนที่เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของกำลังพล ทำให้หน่วยของพลซุ่มยิงมีเวลาดำเนินกลยุทธอื่นใดหรือมีเวลาพอเพื่อตระเตรียมความพร้อมในการล่าถอย
ตามปกติพลซุ่มยิงในกองทัพจะปฏิบัติงานเป็นคู่ ทหารหนึ่งนายเป็นพลซุ่มยิงและอีกนายเป็นพลชี้เป้าคอยส่องกล้องหาเป้าสับเปลี่ยนหน้าที่กันในเวลาที่กำหนด เพื่อลดความอ่อนล้าสายตาจากการจ้องจับเป้าหมายนานๆด้วยกล้องเล็ง สำหรับกองทัพของสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรซึ่งใช้พลซุ่มยิงอย่างแพร่หลาย ภารกิจส่วนใหญ่คือการลาดตระเวนและสอดแนม ต่อต้านการซุ่มยิงของฝ่ายตรงข้าม สังหารนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา และแม้แต่ทำลายเป้าหมายอาคารหรืออุปกรณ์สื่อสารสำคัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น